วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การทอดกฐิน

ความเป็นมาการทอดกฐิน



          การทอดกฐิน เป็นการบำเพ็ญบุญที่ได้กระทำสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งมีที่มาแตกต่างจากการถวายทานอื่นๆ โดยทั่วไป ตรงที่ การถวายทานทั่วไปมักเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ขอให้พระบรมศาสดาทรงอนุญาต


      ส่วนกฐินทาน พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตโดยตรง นับเป็นทานอันเกิดจากพุทธประสงค์โดยแท้ การทอดกฐิน สามารถกระทำได้ภายในระยะเวลา ๑ เดือนหลังออกพรรษา คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

      ครั้งพุทธกาลมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฏก กฐินขันธกะว่าสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับ ณ พระเชตวัน ครั้งนั้นภิกษุ ๓๐ รูป ชาวเมืองปาไฐยยะ (อยู่ ด้านทิศปัจฉิม ในแคว้นโกศล) เดินทางมา ด้วยหวังว่าจะเฝ้าพระผู้มีภาค แต่มาไม่ทันเพราะเหตุใกล้วันเข้าพรรษา จึงพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างพรรษานั้น ไม่ผาสุก เพราะลำบากด้วยที่อยู่ในฐานะเป็นอาคันตุกะ และต่างก็มีใจรัญจวนถึงพระบรมศาสดา ด้วยคิดว่า แม้จะจากเมืองมาอยู่ ณ ที่ใกล้แล้ว ก็ยังมิได้ถวายบังคมเบื้องบาทมูลแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาดังใจประสงค์     

     ครั้นออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างก็รีบออกเดินทางมายังพระเชตวัน ในระหว่างทาง พื้นภูมิภาคยังเป็นหล่มเป็นโคลนเป็นตม เพราะยังไม่แห้งภิกษุทั้งหลายเหยียบย่ำมาตามทาง โคลนตมและน้ำตามหลุมตามบ่อเล็กน้อยก็กะฉูดขึ้นเปื้อนจีวรและร่างกาย ฝ่าแดดกรำฝน ทนความลำบาก จีวรผ้าเนื้อหยาบของภิกษุเหล่านั้นเปียกน้ำฝนน้ำโคลน ก็อุ้มน้ำไว้หนักอึ้ง ลำบากแต่ร่างกายยิ่งแล้วแต่พวกภิกษุทั้ง ๓๐ ก็พากันมาถึงพระเชตวัน ครั้นแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงปราศรัยตรัสความเป็นไปแล้ว ตรัสธรรมกถา ภิกษุเหล่านั้น ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงดำริถึงความลำบากของภิกษุเหล่านั้น และเห็นว่า 

     กฐินตฺถาโร จ นาเมส สพฺพพุทฺเธหิ อนุญฺญาโต
     การกรานกฐิน นี้พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้ทรงอนุญาตมา    

     ดังนั้น จึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คือให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้ ในเมื่อออกพรรษาแล้ว      

     นางวิสาขา ได้ทราบพุทธานุญาต และได้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก

ความหมาย กฐิน มีความหมาย ๔ ประการ      

      

     (๑) กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้
          กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซื่งอาจเรียกว่า สะดึง ก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนด กระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มช้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่งว่าสบง ผ้าห่มว่า จีวร ผ้าห่มช้อนว่า สังฆาฏิ การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบ และ ตัดเย็บ ย้อมทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้น เมื่อทำเสร็จ หรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้น ก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นอีกในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไว้ เรียกว่า เดาะ ฉะนั้นคำว่า กฐินเดาะ หรือเดาะกฐินจึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเก็บไว้ใช้



     (๒) กฐินที่เป็นชื่อของผ้า 
      หมายถึงผ้าที่ถวายใช้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ , ภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้



      (๓) กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา
      คือการทำบุญคือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวันหนึ่งครบ ๓ เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ให้มีผ้านุ่ง หรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่า ที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวาย ผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้ว กล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็นกาลทาน คือการถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล ๑ เดือน ดังกล่าวในกฐินที่เป็นชื่อของผ้า ถ้าถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้น ไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก  

                                                                                  
     (๔) กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม
      คือ กิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐิน ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลาย ก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่นขยายเวลาทำจีวรได้อีก ๔ เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑. วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว อนุญาตให้แสวงหาผ้า และเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้ จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔   



     ข้อความดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าความหมายของคำว่ากฐิน มีความเกี่ยวข้องกันทั้ง ๔ ประการ เมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินเสร็จแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐิน คือแสดงความพอไจว่าได้กรานกฐินเสร็จแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธีกฐิน ในปัจจุบัน มีผู้ถวายผ้ามากขึ้น มีผู้สามารถตัดเย็บย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้แพร่หลายขึ้นการใช้ไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไป เพียงถวายผ้าขาวให้ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น หรือนำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็เรียกว่า "ถวายผ้ากฐิน" เช่นกัน

ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐิน

     ๑. จำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินได้ ถ้ากล่าวตามหลักฐานในพระไตรปิฎก (เล่ม ๕ หน้า ๒๕๘) ซึ่งเป็นพระพุทธภาษิต กล่าวว่าสงฆ์ ๔ รูป ทำกรรมได้ทุกอย่าง เว้นการปวารณา คือการอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ การอุปสมบทและการสวดถอนจากอาบัติบางประการ (อัพภานะ จึงหมายถึงว่าจำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินได้จะต้องมีตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป แต่หนังสืออธิบายชั้นหลังที่เรียกว่าอรรถกถา กล่าวว่า ต้อง ๕ รูป ขึ้นไป เมื่อหนังสืออธิบายชั้นหลังขัดแย้งกับพระไตรปิฏก จึงต้องถือพระไตรปิฏกเป็นสำคัญ

     ๒. คุณสมบัติของพระสงฆ์ที่มีสิทธิรับกฐิน คือพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้นครบ ๓ เดือน ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่าจะนำพระสงฆ์วัดอื่นมาสมทบ จะใช้ได้หรือไม่ ตอบว่าถ้าพระสงฆ์วัดที่จะทอดกฐินนั้น มีจำนวน ครบ ๔ รูปแล้ว จะนำพระสงฆ์ที่อื่นมาสมทบก็สมทบได้ แต่จะอ้างสิทธิไม่ได้ ผู้มีสิทธิมีเฉพาะผู้จำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดนั้นเท่านั้น การนำพระภิกษุมาจากวัดอื่น คงมีสิทธิเฉพาะที่ทายกจะถวายอะไรเป็นพิเศษเท่านั้น ไม่มีสิทธิในการออกเสียงเรื่องจะถวายผ้าแก่ภิกษุรูปนั้นรูปนี้

     ๓. กำหนดกาลจะทอดกฐินได้ ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่าการทอดกฐินนั้นทำได้ภายในเวลาจำกัด คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่นับเป็นกฐินแต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้

     ๔. ข้อควรทราบเกี่ยวกับกับกฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะ เรื่องนี้สำคัญมากควรทราบทั้งผู้ทอดและทั้งฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับ เพราะเป็นเรื่องทางพระวินัย วินัยปิฏก เล่ม ๕ หน้า ๑๓๗ คือ มักจะมีพระไนวัดเที่ยวขอ โดยตรงหรือโดยอ้อม ด้วยวาจาบ้าง ด้วยหนังสือบ้าง เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน
การทำเช่นนั้นผิด พระวินัย กฐินไม่เป็นอันกรานนับเป็นโมฆะ ทอดก็ไม่เป็นอันทอด พระผู้รับก็ไม่ได้อานิสงส์จึงควรระมัดระวัง ทำให้ถูกต้องและแนะนำผู้เข้าใจผิดปฏิบัติผิดทำให้ถูกต้องเรียบร้อย

อานิสงส์ของการทอดกฐิน 
    
     ๑. ฝ่ายผู้ทอดและคณะ 

          (๑) ชื่อว่าได้ถวายทานภายไนกาลเวลากำหนดที่เรียกว่ากาลทาน คีอในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะ เวลา ๑ เดือนเท่านั้น ในข้อถวายทานตามกาลนี้ มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ทานตามกาล ความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลของผู้นั้น ย่อมสำเร็จได้
          (๒) ชื่อว่าได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ ภิกษุรูปใดรูปหนื่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ

 (๓) ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่าง แห่งคุณงามความดีของประชาชนสืบไป
          (๔) จิตใจของผู้ทอดกฐินทั้ง ๓ กาล คือก่อนทอด ขณะทอดและทอดแล้วที่เลื่อมใสศรัทธาและ ปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่มีจิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ
          (๕) การทอดกฐินทำให้เกิดสามัคคีธรรม คือการร่วมมือกันทำคุณงามความดีและถ้าการถวายกฐินนั้น มีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วยก็เป็นการร่วมสามัคคีเพื่อรักษาศาสนวัตถุ ศาสนสถานให้ยั่งยืน สถาพรสืบไป

     ๒. ฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานกฐิน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในวินัยปิฏก เล่ม ๕ หน้า ๑๓๖) ว่าภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้รับประโยชน์ ๕ ประการ

          (๑) รับนิมนต์ฉันไว้แล้วไปไหนไม่ต้องบอกลาภิกษุในวัด
(ตามความในสิกขาบทที่ ๖ แห่ง อเจลกวรรค ปาจิตตีย์ )
          (๒) ไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ
          (๓) ฉันโภชนะเป็นหมู่คณะได้ และฉันโภชนะที่รับถวายภายหลังได้
          (๔) จีวรอันเกิดในที่นั้นเป็นสิทธิของภิกษุเหล่านั้น
          (๕) ขยายเขตแห่งการทำจีวรหรือการเก็บจีวรไว้ได้จนถึงสิ้นฤดูหนาว (คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ เป็นวันสุดท้าย)

แหล่งทีมา : http://patji.net/patji-club/-mainmenu-26/2010-08-30-08-27-26/94.html






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น