วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันสงกรานต์

ความหมายของ วันสงกรานต์


ภาพ:Songkarn_2.jpg

          คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ 13,14,15 เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันเนา วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก 
     ความหมายของคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้ 

          สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น"นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ 12 เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์ 

         มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว 
         
          วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว

          วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ 3 ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ 2 หรือที่ 3 ก็ได้

          วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. 1181 โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ 1 องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย

          ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ 13 เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ 13 เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ 13 จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี

          จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ. 2483 ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติอย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ประชาชนก็

ความเป็นมาของวันสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_3.jpg

          ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ
    
          ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ

         สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี

ภาพ:Songkarn_4.jpg

          พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

          การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

แหล่งที่มา : http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/วันสงกรานต์


          

วันจักรี


          ประวัติการตั้งชื่อวันจักรี นั้นเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี พ.ศ. 2325 นั้นเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และยังทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทยอีกด้วย และยังเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรีซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง

          โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นพระพี่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาทหรือพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปของทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5

          ซึ่งการซ่อมแซม ก่อสร้าง และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล มาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน ในปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "วันจักรี"

          และทั้งหมดก็คือความเป็นมาของวันจักรี ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันหยุดราชการธรรมดาๆ แต่เป็นวันที่ประชาชนทุกคนควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์

แหล่งที่มา : http://hilight.kapook.com/view/22420

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา

ความหมายของวันมาฆบูชา

         คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3

การกำหนดวันมาฆบูชา 

         การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

ความสำคัญและประวัติของวันมาฆบูชา 

         ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"

ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่

          1.วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ 
          2.มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
          3.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
          4.พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"

          และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ 
                    จาตุร แปลว่า 4 
                    องค์ แปลว่า ส่วน 
                    สันนิบาต แปลว่า ประชุม

          ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง 

          ทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์

ประวัติการถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย 

          พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตามในหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า

          ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวรวิหารและวัดราชประดิษฐ์จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึงและขนมต่างๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ

          ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง
  
          ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา

          นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2549 รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา ให้เป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกด้วย

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ 

          หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติคือ "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อไปสู่ความหลุดพ้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้

หลักการ 3 คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ ได้แก่ 

                   1.การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม) 

                    2.การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม) 

                    3.การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

          ซึ่งทั้ง 3 หลักการข้างต้น สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" นั่นเอง

อุดมการณ์ 4 ได้แก่ 

          1.ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ 
          2.ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือ เบียดเบียนผู้อื่น 
          3.ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ 
          4.นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

วิธีการ 6 ได้แก่ 

          1.ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร 
          2.ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น 
          3.สำรวมในปาติโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม 
          4.รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่างๆ 
          5.อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม 
          6.ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี

เวียนเทียน

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา 

          การปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันมาฆบูชาคือ คือ ในตอนเช้า ควรไปทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร ช่วงบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา เมื่อถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียน 3 รอบที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนควรบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่างๆ และรักษาศีล สำหรับตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ จะมีการประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

      แหล่งที่มา  : http://hilight.kapook.com/view/20696



วันตรุษจีน

ตรุษจีน

          ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป สำหรับปี 2556 นี้ วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์

          สำหรับที่มาของ วันตรุษจีน นั้น เชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมที่ไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย นั่นคือเมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

          นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง

          ส่วนการกำหนด วันตรุษจีน นั้น ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ

          การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้าน ทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ

           จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับ วันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง

ตรุษจีน
          นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ วันตรุษจีน คือ "อั่งเปา" ซึ่งมีความหมายว่า "กระเป๋าแดง" หรือจะใช้คำว่า "แต๊ะเอีย" ซึ่งมีความหมายว่า "ผูกเอว" จากที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอว โดยการให้อั่งเปานี้ คู่แต่งงานจะให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว จะออกมาจากบ้านเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติ และด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป)

แหล่งที่มา : http://hilight.kapook.com/view/19792


วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

วันครู

ไหว้ครู

ความหมายของครู

          ครู หมายถึง  ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก" อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคน ๆ หนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็ก ๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น "ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน

          ด้วยเหตุนี้เอง "การบูชาครู" หรือ "การไหว้ครู" จึงเป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต  


          ในความหมายของ "การไหว้ครู" ก็คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ ว่าท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ ซึ่งการไหว้ครูนี้ นอกจากจะเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณความดี และช่วยธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไปแล้ว การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่า ตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน


           พิธีไหว้ครู หรือ การไหว้ครู นี้มีหลายอย่าง เช่น การไหว้ครูนาฏศิลป์ ไหว้ครูดนตรี ไหว้ครูโหราศาสตร์ ไหว้ครูแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไป เมื่อเอ่ยถึง พิธีไหว้ครู เรามักจะหมายถึง การไหว้ครูในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในช่วงเปิดภาคการศึกษา


ความสำคัญของครู


          ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี 


          ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันที่ 6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆคน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง



วันครู


ประวัติความเป็นมา

           วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ
เรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู

          ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

          พ.ศ.2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

          "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง" 

          จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน 

          คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว 

     งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

กำหนดวันและเดือนที่นิยมประกอบพิธีไหว้ครู

          การจัดพิธีไหว้ครูมีข้อกำหนดว่าให้กระทำพิธีเฉพาะวันพฤหัสบดี อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพวกพราหมณ์ ซึ่งนับถือเทพเจ้านามพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤทธิ์ ในฐานะปุโรหิตาจารย์ที่เคารพนับถือของพระอินทร์และเทวดาอื่น ๆ จึงนิยมไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี

          มีตำนานที่ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นอกจากนี้ยังถือกันว่าเวลากลางวันพระพฤหัสบดีเป็นธาตุไฟ และเป็นธาตุน้ำในเวลากลางคืน เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้วิทยาความรู้แก่มนุษย์ เราจึงถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู

ความมุ่งหมายพิธีไหว้ครู

          1. เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ด้วยการถวายเครื่องสักการะ พลีกรรมแก่ปรมาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มา   ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ศิษย์

          2. เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความมั่นใจในการเรียนนาฎศิลป์เป็นอย่างดี เมื่อได้ผ่านพิธีกรรมมาแล้ว

          3. เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะ
เป็นด้านกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมก็ตาม

          4. เพื่อไว้สำหรับต่อท่ารำที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงที่มีความเชื่อมาแต่โบราณว่า เพลงหน้าพาทย์บางเพลงจะต้องต่อท่ารำในพิธีไหว้ครู จึงจะเกิดเป็นสิริมงคลทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน

          5. เพื่อเป็นสิ่งเตือนสติให้ศิษย์ระลึกถึงครู อันเป็นเครื่องเตือนใจที่จะประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในศีลธรรมจรรยา ตั้งตนอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์

ประโยชน์ที่ได้รับจากพิธีไหว้ครู

        1. สามารถทำให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะที่เป็นศิษย์มีครูเหมือนกัน

        2. สามารถนำวิชาความรู้ที่เรียนมา ไปถ่ายทอดได้ด้วยความมั่นใจ โดยไม่ต้องกลัวว่า "ผิดครู"

        3. เป็นการสร้างศิษย์ให้มีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา กล้าแสดงออกไม่เก็บตัว

        4. ทำให้มีความรู้กว้างขวางและเข้าใจในพิธีกรรมเช่นนี้อย่างชัดเจน

        5. เกิดความสบายใจหากได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไป ก็จะได้เป็นการขอขมาครูไปด้ว

พานไหว้ครู
พานไหว้ครู ใน วันไหว้ครู

พานไหว้ครู
พานไหว้ครู ใน วันไหว้ครู

การเตรียมพานไหว้ครู

          สมัยก่อน ครูประจำชั้นของแต่ละห้องจะคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีและมีมารยาทเรียบร้อย ผู้ชายหนึ่งคนและผู้หญิงหนึ่งคนเป็นตัวแทนนำพานดอกไม้ไปไหว้ครู และในเย็นวันพุธจะมีการแบ่งหน้าที่กันว่า ในเช้าวันพฤหัสบดี นักเรียนคนใดจะต้องนำอะไรมาโรงเรียนบ้าง เช่น บางคนมีพานเงินหรือพานแก้วก็จะเป็นคนเอาพานมา บางคนเอาทราย หรือดินเหนียวมาใส่พานเพื่อปักดอกไม้ บางคนต้องเอาธูปเทียนมา ส่วนนักเรียนที่เหลือให้ไปช่วยกันหาดอกไม้มา โดยมีดอกไม้ที่กำหนด คือ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ดอกเข็ม และดอกไม้อื่น ๆ เป็นต้น

          ตอนเช้าตรู่ วันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันไหว้ครู เด็ก ๆ จะไปโรงเรียนเช้าเป็นพิเศษ เพื่อไปช่วยกันจัดพานดอกไม้ ซึ่งอาจมีการปัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบบ้าน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขือ โดยที่พานดอกไม้นี้เด็กนักเรียนหญิงจะเป็นคนถือ ส่วนเด็กผู้ชายจะถือธูปเทียนและช่อดอกไม้ ( ช่อดอกไม้หมายถึงดอกไม้ที่หาได้แล้วเอามัดมารวมกัน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขืออีกเช่นกัน)

          จะเห็นว่า พิธีไหว้ครูแต่โบราณไม่มีพิธีรีตรองมากนัก แต่มีความหมายแฝงไว้มากมาย คนโบราณเป็นนักคิดจะทำอะไรก็มักจะผูกเป็นปริศนาที่ลึกซึ้งเอาไว้เสมอ ในพิธีไหว้ครูก็เช่นเดียวกันเครื่องสักการะที่ใช้ในการไหว้ครูนั้น นอกจากธูป เทียน แล้วยังมีข้าวตอก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และหญ้าแพรก ซึ่งเป็นของหาง่ายและมีความหมาย

พานไหว้ครู
พานไหว้ครู ใน วันไหว้ครู

ความหมายของดอกไม้ต่าง ๆ ที่นิยมใช้ในการไหว้ครู

          ดอกมะเขือ เป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้เป็นดอกไม้สำหรับไหว้ครู ไม่ว่าจะเป็นครูดนตรี ครูมวย ครูสอนหนังสือ ก็ให้ใช้ดอกมะเขือนี้ เพื่อศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่ เช่นเดียวกับ หญ้าแพรก 

          หญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เจริญงอกงาม แพร่กระจายพันธ์ ไปได้อย่างรวดเร็วมาก หญ้าแพรกดอกมะเขือจึงมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและ ดอกมะเขือนั่นเอง

          ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก

          ดอกเข็ม เพราะดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่า เกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็มไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม

วันครู

บทสวดเคารพครู

          (สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา
          ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

(สวดทำนองสรภัญญะ)

          (สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์ 

          โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์

          ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน

          ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน

          จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน

          เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม

          ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม

          กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ

          คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร

          ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม

          (กราบ)

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันครู

            เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู คลอดจนการจัดกิจรรมได้เหมาะสม และมีประสิทธภาพ

 กิจกรรมวันครู

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

         1. กิจกรรมทางศาสนา

         2. พิธีรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตนการกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

         3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วย บุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับ ส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ
          รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง(หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยคุรุสภา คณะกรรมการการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์จำนวน 1,000 รูป

          หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีกล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

           จากนั้นประธานจัดงาน วันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ 1 นาที เพื่อรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ ผู้นำร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ

คำปฏิญาณตนของครู

          ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

          ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

          ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรี มอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอก และในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม

          ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
  ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ  ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู

          1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

          2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

          3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

          4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

          5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

          6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

          7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน

          8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

          9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

          10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

รายชื่อประเทศที่มี วันครู

       ประเทศที่มี วันครู ที่ไม่ใช่วันหยุด

          อินเดีย วันครูตรงกับวันที่ 5 กันยายน
          - มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม 
          - ตุรกี วันครูตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน 

       ประเทศที่มี วันครู เป็นวันหยุด

         แอลเบเนีย วันครูตรงกับวันที่ 7 มีนาคม
          - จีน วันครูตรงกับวันที่ 10 กันยายน
          - สาธารณรัฐเช็ก วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม 
          - อิหร่าน วันครูตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม
          - ละตินอเมริกา วันครูตรงกับวันที่ 11 กันยายน
          - โปแลนด์ วันครูตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม
          - รัสเซีย วันครูตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม
          - สิงคโปร์ วันครูตรงกับวันที่ 1 กันยายน                                                                          
          - สโลวีเนีย วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
          - เกาหลีใต้ วันครูตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม
          - ไต้หวัน วันครูตรงกับวันที่ 28 กันยายน
          - ไทย วันครูตรงกับวันที่ 16 มกราคม
          - สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วันในเดือนพฤษภาคม 
          - เวียดนาม วันครูตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน

แหล่งที่มา : http://hilight.kapook.com/view/19311